ปัญหาของการทำงานในประเทศเยอรมัน

 

ปัญหาของการทำงานในประเทศเยอรมัน

หลังจากให้แรงบัลดาลใจวัยรุ่น วัยกลางคน วัยว้าวุ่นหรือวัยใดๆก็ตาม ในการมาเขียนโปรแกรมและการหาทำงานไป บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้วที่จะมาเล่าปัญหาบ้าง หลายๆคนก็จะมีประสบการณ์แตกต่างกันไปนะคะ และเรื่องราวนี้เป็น based on true story ของดิฉัน ซึ่งคนอื่นๆอาจจะโชคดีมีบาระมีสูงไม่เคยเจอก็ได้ แต่นี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณได้เตรียมตัว เตรียมใจกับสิ่งที่ “อาจ” จะเกิดขึ้น ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดก็ได้ แต่รู้ไว้เพื่อให้รู้ทัน เราจะแบ่งออกเป็น

  1. ปัญหาของชาวต่างชาติ(ต่างด้าว อิอิ)ที่อาจจะเจอ
  2. ปัญหาของการจบไม่ตรงสาย
  3. ปัญหาเหยียดสัญชาติ และเหยียดเพศ
  4. ภาษา

มาเริ่มกันที่ ปัญหาของชาวต่างชาติที่อาจจะเจอ

หลายๆคนอาจจะโลกสวยว่า ทำงานที่ต่างชาตินั้นเขาแฟร์อยู่แล้ว เขาให้ค่าจ้างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าขึ้นชื่อว่าประเทศเยอรมันแล้ว ยิ่งอวยกันไส้แตกแหกไส้ฉีก โฮะๆๆ... ถ้าจะเปรียบเทียบไปจริงๆ เราว่ามนุษย์ในทุกประเทศก็มีดีไม่มีปะปนกันไปนั่นแหละ เห็นยิ้มๆบางคนก็ไม่ได้แปลว่าเขาเอ็นดูเรา ต้องรู้ทันและอยู่ให้เป็น แกล้งโง่บ้างก็ได้

ด้วยความที่ดิฉันใช้ชีวิตมาจนอายุปูนนี้ ก็ผ่านประสบการณ์ในชีวิตทั้งดีและไม่ดีมาบ้าง และก็เรียนรู้มันมาตลอดทำให้เรามองโลกในความเป็นจริงมากขึ้น เดินสายกลางๆที่ไม่คิดลบจนเกินไปและไม่คิดบวกจนเกินไป ปล่อยพื้นที่กลางๆให้ตัวเองเจอข้อดีข้อเสีย

ในความเป็นจริงก็คือ ประเทศเยอรมันโดยเฉพาะในองค์กรณ์ขนาดเล็ก ก็ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง เรื่องการเอาเปรียบแบบเนียนๆ เช่นกัน หลายๆบริษัทมองหาค่าแรงราคาถูก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวต่างชาติทุกวันนี้มาทำงานดีๆในเยอรมันเยอะมาก ในบริษัทที่เราเคยทำงานมา มีชาวต่างชาติแทบ “ทุก” บริษัท และบางที่มีเยอะด้วย! ค่าแรงเมื่อเทียบกับประสบการณ์นั้น ประมาณเอาต่างด้าวมาทำงานนั่นแหละ 

การรู้เรื่องกฏหมายแรงงานพื้นฐานมีความสำคัญมากในการทำงานที่ประเทศนี้ เพราะเป็นประเทศที่สัญญาว้าวุ่นซะเหลือเกิน ตั่งแต่สัญญาทำงาน สัญญารับโปรเจค ไปยันลาออกและใบรับรองการทำงาน

ดิฉันมองว่าปัญญหาที่เจอก็ คนที่มาเริ่มทำงานใหม่ๆก็อาจจะเจอกันได้ ด้วยความที่เป็นงานแรกๆ เราก็จะดี๊ด๊าดีใจจนไม่ได้ “แหกตาดู” สัญญาแบบชัดเจอ และฝ่ายบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านการคอนโทลพนักงานนั้น เขาเขี้ยวลากดินกว่าเราแน่นอนค่ะ การอ่านสัญญาให้ดีในตอนเซ็นต์สัญญานั้นสำคัญมาก ไม่งั้นอาจจะมานั่งโอดอวยทีหลังเลย บางบริษัทเขารู้ตัวอยู่แล้วว่า บริษัทเขา “มีปัญหาบางอย่าง” ที่ทำให้พนักงานลาออกบ่อย และเขาจะมีสัญญาแปลกๆ ที่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์เราจะไม่เอ๊ะเลย แล้วยิ่งถ้าไม่มีคนเยอรมันที่ Nice กับเรามาแนะนำอะไรบางอย่าง เราจะอยู่โง่ๆไปแบบนั้นแหละ ซึ่งในประสบการณ์ของดิฉันนั้น เดชะบุญซะเหลือเกิน ที่มาเจอ Mentor ที่สอนในเราเก่งและมั่นใจในตัวเอง ทำงานที่เยอรมันต้องกล้าเสนอหน้า และกล้าตัดสินใจค่ะ ไหนจะปัญหาชีวิตโดนคนไทยด้วยกันเหยียดกันเองอีก ในสมัยก่อนชอบมีคนไทยในเยอรมันที่ขยันทำเฟสปลอมมาด่าเราว่าอวดฉลาดบ้าง เมียฟรั่งกระจอกบ้าง ไม่มีปัญญาทำนู้นทำนี่บ้าง ไอ้เราแหมก็แค่คนโง่ๆคนหนึ่งที่พยายามอยากจะเก่งและพัฒนาตัวเองแค่นั้นเอง คือก็รู้ตัวว่าโง่นะแหล่ะถึงพยามพัฒนาตัวเอง จริงๆทุกวันนี้ก็คิดนะว่า ผิดหรือที่เราอยากจะเก่ง



ทำงานที่บริษัทในเยอรมันถ้าไม่กล้าอวดฉลาดคือพลาดแล้วค่ะ ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ กล้าแสดงออกความคิดเห็น กล้าที่จะติจุดที่ไม่ดีหรือสิ่งที่อาจจะเกิดปัญหาในภายหลัง ชอบการทำงานกับคนเยอรมันอย่างหนึ่งคือเวลาเราบอกเขาว่ามันผิดเขาจะยอมแก้ไขแต่โดยดี ไม่มาดราม่าเยอะ  ดิฉันเองเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆนางหนึ่งที่พยายามยืนด้วยแข้งขาของตัวเองโดยไม่พึ่งสามีแต่ก็พึ่งบ้างในการคอนเฟิร์มว่าเราเข้าใจสิ่งนั้นสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะภาษาเยอรมันนั้นไม่ใช่ภาษาแม่และยิ่งเป็นภาษากฏหมายแล้วยิ่ง อยากจะกรีดร้องโหยหวน... โดยส่วนมากจะถามเพื่อนๆคนเยอรมันที่ทำงานในแวดวงเดียวกันซะมากกว่าค่ะ เพราะเขาจะตอบเราได้ดีกว่า ไม่อยากบ่นสามีให้ชาวบ้านฟังแต่สามีดิฉันก็เป็นผู้ชายที่ไม่ค่อยฉลาดค่ะ(ฮ่าๆๆๆๆ) ถามอะไรไม่เคยรู้สักอย่าง  คือคนเยอรมันเขาก็ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่องนะ ถ้าเป็นเรื่องการทำงานถามคนในแวดวงเดียวกันจะได้เรื่องมากกว่า บ่นไปตามประสาป้าแก่ๆคนหนึ่งแล้วก็กลับมาเข้าเรื่องกัน

ตัวดิฉันเองเคยได้สัญญาการทำงานที่ “ห้ามไปทำงานให้กับบริษัทคู่แข่งหลังจากหมดสัญญาลาออก 1 ปี”

แปล

ผู้ถูกว่าจ้าง “ต้อง” (verpflichtet แปลว่าต้อง มีความหมายเชิงบังคับค่ะ) ในระยะเวลา 12 เดือนนับตั่งแต่สิ้นสุดการเป็นพนักงาน (สิ้นสุดสัญญาแล้วบวกไปอีก 12 เดือน) จะต้องไม่ขายความลับ ไม่สอดแนมและไม่ทำงานให้กับบริษัทคู่แข่งทันที และห้ามไม่ให้ทำงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติเป็นคู่แข่งของบริษัท

ในกรณีที่จะต้องปฏิบัติงานให้คู่แข่ง ต้องมีการตกลงกันก่อนทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ว่าให้พนักงานคนนี้ทำงานได้หรือไม่

ปกติสัญญาการทำงานในเยอรมันนั้น เมื่อทำการลาออก การสิ้นสุดสัญญาตามหลักการสากลจะขึ้นอยู่กับอายุงาน เช่นทำงานที่นี่มากี่ปี ก็จะต้องทำต่ออีกกี่เดือนถึงจะสิ้นสุดสัญญา แต่เราก็ได้มาแบบ ถ้าพูดบ้านๆก็คือ หางานใหม่ไม่มีใครมานั่งรอ 6 เดือนแน่นอน ในสัญญาฉบับนี้ได้บอกว่า เราต้องลาออกโดยใช้เวลา 4 เดือน และ บวกไปอีกจนกว่าจะถึงการสิ้นสุดไตรมาส นั่นหมายถึงว่าเราต้องลาออกแบบตามไตรมาสเป๊ะๆ ถ้าจะเอา 4 เดือน โดยปกติแล้วก็ไม่มีใครหางานได้แบบลงล็อคเป๊ะขนาดนั้นหรอก ของเราก็โดนไป 6 เดือนเบาๆค่ะ ซึ่งเรามานั่งดูแล้ว discuss กับเพื่อนคนเยอรมันที่ทำงานสายเดียวกันก็มองว่า มันไม่ค่อยเป็นธรรมนะ ถ้าประสบการณณ์ 10 ปีอัพนี่ ไม่แปลก แต่นี่มันแค่ไม่ถึง 3 ปีเลย และสำหรับชาวต่างชาตินั้น ถ้าหากว่าทำผิดกฏหมายถูกยกเลิกใบอนุญาติ จะถูกยกเลิกสัญญาด้วยทันที และต้องออกจากงานทันที ปีนี้รู้สึกจะมีคนอินเดีย 1 คน ที่อยู่ดีๆ ฝ่ายบุคคลก็ส่งเมล์มาบอกว่าคนนี้นับตั่งแต่วันนี้สิ้นสุดการเป็นพนักงานที่นี่แล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาไปทำผิดกฏอะไร เพราะปกติถ้าลาออกในระหว่างทดลองงาน 6 เดือน จะใช้เวลา 6 สัปดาห์บวกนับไปจนสิ้นเดือน

บริษัท Start Up หรือบริษัทขนาดเล็กมักจะทำสัญญาแรกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี (เผื่อธุรกิจมีปัญหาเขาจะ Lay off ง่ายๆ หรือไม่ถูกใจก็จะได้ไม่ต้องต่อสัญญา) ถ้าเป็นชาวต่างชาติต้องระวังในช่วงไม่ผ่านโปรมากๆ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ การขอขึ้นเงินเดือนต้องอยู่ 1 ปีก่อนถึงจะขอต่อรองได้ ยิ่งได้สัญญาแบบถาวรยิ่งต่อรองเงินเดือนยากขึ้น (อาจจะไม่ใช่ทุกที่นะ อันนี้ที่เราๆชาวต่างด้าวที่ไม่ได้เก่งเป็นเทพมานั่งสนทนาธรรมกัน)

ดิฉันแปลไม่เก่ง และไม่สวยงามนะคะ เพราะภาษาเยอรมันไม่ได้ดีอะไรปานนั้น แปลได้แบบถูๆไถๆ 

สรุปเรื่องสัญญาการทำงานทางที่ดีควรจะมีคนที่เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาให้ค่ะ แต่ถ้าจะใช้ทนายมันก็มีค่าใช้จ่าย แถมไหนจะอยากได้งานอีก หลายๆคนต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอีก บางคนยังอยากได้โอกาสในการอยู่อาศัยต่อในเยอรมัน ก็ต้องสู้ทนและดิ้นรนกันต่อไป บริษัทเล็กๆจะเอาเปรียบแบบเนียนๆ ก็ต้องดูอะไรหลายๆอย่างดีๆ นั่นคือปัญหาของคนที่ไม่ได้เกิดมาเก่ง หรือชีวิตมีต้นทุนที่ดีในด้านใดๆค่ะ แต่อย่าไปคิดลบเยอะวันหนึ่งมันอาจจะดีขึ้นก็ได้ หัวไม่ดีก็ใช้ความอดทนเอา ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยอยู่ในกลุ่มเด็กหัวดีค่ะ และไม่เป็นที่รักของคุณครูทั้งหลายด้วย แถมบ้านจนพ่อแม่ไม่ได้มีเงินทองมากมายส่งไปเรียนพิเศษนู้นนี่เหมือนคนอื่น เส้นทางก็เลยไม่ค่อยจะสวยเหมือนคนที่เขาเกิดมามีพร้อมทั้งสติปัญญาและฐานะทางสังคม


แต่ว่า ทุกโคน... มันยังไม่จบแค่สัญญาแค่นั้น เวลาทำงานแล้วเรารับผิดชอบโปรเจคใดๆก็จะมีการ ให้เซ็นต์สัญญาหยิบย่อยอีกจ๊ะ ในสัญญาย่อยนี้ก็จะมีข้อห้ามว่าห้ามเราทำอะไรบ้าง เช่นการใช้ USB ห้าม การ การหลุดของข้อมูลไม่ว่าจะเป็นรูปภาพไฟล์ที่นำมาใช้ รายละเอียด Features ต่างๆหรือส่วนต่างๆของโค๊ดห้าม รวมทั้งขอบเขตการรับผิดชอบว่าเราต้องรับผิดชอบงานส่วนไหนบ้างในโปรเจค แม้แต่คนในครอบครัว เพื่อนสนิท มิตรสาหายก็ห้ามบอกว่าทำอะไร

ยังมันยังไม่จบที่สัญญาทำงาน ข้ามการลาออกนะ เพราะอธิบายคร่าวๆข้างบนไปแล้ว ข้ามไปที่ เมื่อสิ้นสุดการลาออก ในการลาออกที่เยอรมัน หรือการทำงานกับบริษัทในเยอรมันระยะเวลา นานกว่า 1 ปี จะมีสิทธิที่จะได้รับใบรับรองการทำงาน เป็นสิ่งที่ “ต้อง” สำหรับบริษัท บริษัทจะไม่มีสิทธิ์มาหมกเม้ม ไม่ให้ใบรับรอง นี่คือกฏหมายแรงงานที่เยอรมันค่ะ และในใบรับรองงานนั้นต้องเป็น POSITIVE

มาเล่าเรื่องใบรับรองงานของเยอรมันดีกว่า นี่หลายๆคนอ่านแล้วต้อง อีหยังวะ แน่นอน อ่านแล้วมีสะดุ้ง เป็นประเทศที่ช่างซับซ้อนเสียจริงๆ

ใบรับรองงาน Arbeitszeugnis

ตามกฏหมายในใบรับรองงานภาษาเยอรมันนั้น “ห้าม” ใส่ข้อความที่เป็น Negative แต่! เขาจะใช้วิธีแบบใส่โค๊ดลับจ๊ะ เช่น การให้คะแนนว่าพนักงานคนนี้ทำงานโดยรวมเป็นยังไง และข้อความสวยงามแต่มันคือการคอมเพลน มายกตัวอย่างง่ายๆ (คนเยอรมันเรียกกันว่า nett gemeint คือข้อความดูดีที่แทรกไปด้วยการเหน็บแนม) มาดูตัวอย่างฮาๆ

ข้อมูลจาก https://www.zeugnisprofi.com/wissen/arbeitszeugnis-geheimcode/

Er hat durch seine Geselligkeit zur Verbesserung des Betriebsklimas beigetragen.

ความหมายของมันก็คือ เขาเป็นคนที่ชอบทำให้บริษัทมีสีสั้น (แปลตรงๆก็ ด้วยความเข้าสังคมเก่งของเขา ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น) แต่ ฮัลโหล มันไม่ได้แปลว่าแบบนั้นจ๊ะ มันแปลว่าพนักงานคนนี้ขี้เมา ชอบกินเหล้าเวลาทำงาน หุหุ

ถ้าเขียนเยอะก็จะงงแน่ๆ เอาที่แน่ๆ สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใส่สิ่งที่เราคิด ต้องมาตีความจากการเน้นยำถ้อยคำหลายๆคำพูดอีกที ว่าเขาเน้นย้ำคำไหน ลืมประโยคอะไรที่ควรจะใส่ ลืมจริงหรือแกล้งลืม เยอะมาก

แต่ไม่ต้องกลัวค่ะสำหรับคนที่มาทำงานที่เยอรมันแล้วคิดจะลาออก กลัวจะได้ใบรับรองไม่ดี กฏหมายแรงงานไม่อนุญาติให้บริษัทเขียนอะไรที่อาจจะส่งผลในการหางานของพนักงานในอนาคตได้ค่ะ(การทำงานคือการเสียภาษี ประเทศเยอรมันจึงให้ความสำคัญกับการทำงานค่ะ เพราะประเทศต้องการรายได้ หุหุ) อันนี้เป็นข้อดีของการทำงานที่เยอรมันคือ เขามีกฏหมายดูแลแรงงานที่ค่อนข้างดีค่ะ โดยทั่วไปแล้ว ผลการทำงานรวมของพนักงานจะต้อง “เป็นความจริง” และ “สิ่งที่พนักงานต้องการ” (กฏคำว่าและจ๊ะ อย่างใดอย่างหนึ่งมิได้) โดยปกติแล้ว บริษัทก็จะให้อยู่ในรับดับ ดี (เยอรมันมีเกรด 1- 6 เกรด 1 คือดีสุด) เพราะเขาจะให้เราอ่านก่อนที่จะปริ้นและเซ็นต์ให้เรา นั่นคือได้รับการยอมรับจากพนักงานแล้ว เหตุผลการให้คะแนนว่าทำไมได้คะแนนเท่านั้นก็ต้องมีนะคะ เพราะไม่ฉะนั้นพนักงานจะมีสิทธิยื่นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ดูแลแรงงาน ในกรณีที่ได้รับใบรับรองที่ไม่เป็นธรรม 

ส่วนของคุณแม่เองเขาถามว่ามีใครได้ช่วยเราไหมตอนทำงาน เราก็บอกไปตรงๆว่า อันไหนไม่รู้ก็มีถามเพื่อนร่วมงานบ้าง หรือเวลาเขียน Document ก็ให้เพื่อนร่วมงานคนเยอรมันช่วยตรงไวยากรณ์การใช้คำว่าเขาอ่านรู้เรื่องไหม เรามองว่าปกติ เขาก็เลยให้คะแนน 2 มา ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดอะไร เพราะยังไงก็เซ็นต์สัญญาที่ใหม่ไปแล้ว เลยไม่ได้ใส่ใจกับว่าเหน็บแนมหรือไม่ และเดี๊ยนก็ได้ stets zu unserer vollen Zufriedenheit มาพร้อมกับเหตุผลว่าทำไมถึงได้อันนี้ซึ่งก็คือ มีความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานนั่นเอง

ตัวอย่างผลคะแนนรวม แบบสากล ทุกคำพูดเป็นคำที่สวยงามหมดค่ะ แต่มันคือการให้เกรดพนักงาน

ดีมาก

Stets zu unserer vollsten Zufriedenheit บ่อยครั้งที่เราพอใจมากที่สุด

ดี

stets zu unserer vollen Zufriedenheit บ่อยครั้งที่เราเต็มไปด้วยความพอใจ

ปานกลาง

zu unserer vollen Zufriedenheit เราเต็มไปด้วยความพอใจ

พอใช้

Zu unserer Zufriedenheit เรามีความพอใจ

น้อย

Im Großen und Ganzen zufriedenstellend อยู่ในขอบเขตที่น่าพอใจ

ไม่ผ่าน

Hat sich bemüht เขาได้พยายามแล้ว

แต่ทุกคนเห็นอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ สำหรับต่างด้าวแบบเราๆที่ไม่รู้กฏหมายนั้น แฮะๆ รู้งูๆปลาๆ แค่ภาษาเยอรมันปกติก็หัวจะปวดแล้ว ดั๊นต้องมาเจอการตีความแบบนี้อีกเหรอเนี่ย โอ๊ย ตายๆๆๆ แค่เห็นหน้าที่ครบ วันที่ระยะเวลาที่ทำงานถูกต้องก็พอละ ไม่ได้เอะใจ นั่นเป็นจุดสำคัญเลยที่บริษัทเยอรมัน “อาจ” แอบ ดิสเครดิตหรือแอบบ่นเราได้ (แต่เราเชื่อว่าคนที่ลาออกส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครมาลาออกก่อนได้งานหรอก ส่วนใหญ่มีงานใหม่รออยู่แล้ว เซ็นต์สัญญาใหม่ไปแล้วถึงออกกัน) ก็บอกแล้วว่าฝ่ายบุคคลเขาเขี้ยวลากดิน คนเยอรมันก็มีค่ะที่เห็นหน้ายิ้มๆแต่เขาไม่ได้ยิ้มเหมือนหน้า เหมือนที่ทำงานที่ไทยนั่นแหละค่ะ อย่าไว้ใจลมปาก จงไว้ใจสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น!

เดี๋ยวบางคนจะมาเถียงว่ามีเหรอ ทำไมไม่เคยเจอ การที่เราไม่เคยเจอไม่ได้แปลว่ามันไม่มีค่ะ และการที่เขาแสดงออกว่าเอ็นดูก็ไม่ได้แปลว่าเขาเอ็นดูเราจริงๆ ที่เขียนก็อยากให้เป็นความรู้เพื่อป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดเอาไว้ หรือรู้เท่าทัน ไม่ใช่ว่าเอาไปคิดลบกันซะทั้งหมดแบบนั้นไม่เอานะ บอกแล้วว่าให้ อยู่สายกลางให้เรามีพื้นที่ในการพิจรณาทุกๆสิ่ง รอบๆตัวด้วย ดิฉันเองก็เคยได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่อดีตเพื่อนร่วมงานที่ปัจจุบันย้ายไปทำงานสวิทเมื่อปีที่แล้วบอกว่า อย่าได้ไว้ใจใครหรือเล่าอะไรให้ใครฟังมากนัก มีเพื่อนร่วมงานบางคนชอบทำตัวเป็นสแปม

มาต่อกันที่ปัญหาที่สองของคน จบไม่ตรงสาย หรือไปทำ Course ระยะสั้นแล้วกลับเข้ามาทำงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่จบสายตรงจะมีความค่อนข้างไม่มั่นใจในตัวเราเวลาทำงาน และเขาจะคิดว่าเราไม่รู้เรื่องและมองว่าเรา “โง่” เมื่อไหร่ที่โดนเจ้านายเทียบความคิดเรากับคนที่จบตรงสายแล้วเลือกเอาความคิดเราเมื่อไหร่ Meeting หน้าเตรียมลับมีดไว้แทงกันได้เลยจ๊ะ(ใครบอกทำงานกับฟรั่งไม่มีปัญหานี้ หึหึ แต่ส่วนใหญ่พวกชอบลองภูมิไม่ใช่คนเยอรมันนะ มักจะเป็นต่างด้าวด้วยกันนี่แหละ) อ่อมีที่ว่านี้หมายถึงความรู้นะ อย่าไปหาทำเอามีดจริงๆ ติดคุกหัวโตกันจะมาหาว่าอ่านบล็อคของคุณแม่เกมส์เมอร์แล้วทำตาม (นี่ก็เขียนโหดไป อารมณ์ประมาณนั้น เราเชื่อว่าหลายๆท่านเข้าใจดีแน่นอน มันเกิดขึ้นได้กับทุกๆสายงานไม่ใช่แค่งานไอที) เมื่อนั้นการทำงานยันเที่ยงคืนเพื่อหาความรู้มาหักล้างดีเบทกันจะเกิดขึ้นแน่นอน เสือหลายตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน มีการแย่งกันเป็นจ่าฝูงอยู่แล้ว ซึ่งเรามองว่ามันเป็นความเครียด เพราะตัวเองเองเป็นคุณแม่และเป็นผู้หญิงคนเดียวในทีมพัฒนาด้วย ไหนจะลูกไหนจะสามีทำกับข้าวโอ๊ย จิปาถะ ที่ไม่ได้เป็นคุณสามีที่มีภรรยาเลี้ยงลูก ทำกับข้าวให้กิน แล้วเราต้องสละเวลาส่วนตัวมาหาเหตุผลที่มันควรจะจบในที่ทำงานหรือต้องพยายามทำตัวให้เก่งขึ้นเพื่อให้เทียบชั้นกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้ จะบอกว่าเหนื่อยมาก ข้อดีคือมันทำให้เราเก่งไว แต่ข้อเสียคือบั่นทอนการดำเนินชีวิตส่วนตัว เพราะเราแทบจะติดกับการ search หาข้อมูลหาวิธีการตลอดเวลาแม้แต่เวลาพักร้อน แทบจะเขียนโค๊ดที่เป็นโจทย์ของบริษัทตลอด หลับก็ฝันเป็นโค๊ดแล้วเออ คิดเรื่อง Performance ที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ ไอ้อยากเก่งน่ะอยาก แต่ชีวิตก็อยากใช้เว้ย! ถ้าทำงานในหน่วยงานเอกชนต้องทำใจเรื่องนี้ แต่การทำงานที่นี่ก็ยังถือว่าพอมีแต้มบุญเยอะอยู่ เพราะมีคนคอยถือหางให้ท้าย ใครแตะไม่ได้ จะมีคนสวนแทนตลอด 😂 

ไหนจะเรื่องทฤษฏีต่างๆอีกที่คนจบไม่ตรงสายไปเรียนเขียนโปรแกรมเพรียวๆ จะไม่ค่อยเข้าใจการออกแบบผังงานการเขียน หรือการเขียนพวก Use Case, Class Diagram  วางแผนโปรเจค บราๆและอีกมากมาย อ่อแต่ไม่ต้องกลัวหรอก บางคนมันจบสายตรงมันก็ถามเหมือนกันว่าคืออะไร และเขียนทำไม ฮ่าๆๆๆ 

จบไม่ตรงสาย แถมเป็นชาวต่างชาติ บางทีเวลาเราพูดอะไรคนอาจจะไม่เชื่อถือ เวลาแนะนำอะไรเขาจะมองข้ามแค่ฟังๆ แต่ไม่ Take Action เช่นเราบอกเพื่อนร่วมงานว่าจะทดสอบ Performance ลองใช้ Benchmarks สิ เขาก็จะบอกว่ารู้จัก (แต่พูดแค่ปากรู้จริงไหมไม่รู้ แต่เห็นใช้ Timer วัดความเร็วอยู่นะนั่น ฮ่าๆ) จนได้ Confirm จาก Senior นั่นแหละเขาถึงจะฟัง งานที่เขาทำเป็นเวลาหลายเดือนเราสามารถทำเสร็จภายใน 3 วันพร้อมกับ Unit Testing ยังไม่เชื่อถือกันอีก ดื้อจริงๆ บางคนอาจจะหมั่นไส้แต่บอกเลยนะว่า ความเก่งของคุณแม่ไม่ใช่ความเก่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดิฉันไม่ใช่คนที่เก่ง แต่เราพยายามที่จะเรียนรู้แล้วปรับปรุงในสิ่งที่ผิดพลาดค่ะ บางคนไม่ได้มาเห็นเวลาที่เรานั่งเรียน นั่งเสียน้ำตา แต่พอเห็นทำนู้นทำนี่ได้ก็หมั่นไส้ซะงั้น


การเรียนรู้นอกเวลางานในงานเอกชนนั้น มีผลกับการขอขึ้นเงินเดือนในอนาคต สุดท้ายมันก็จะเป็นการตัดสินใจว่าเราทำงานตกลงค่าแรงเราเฉลี่ยต่อชั่วโมงรวมทั้งเวลาในการเรียนรู้มันไม่คุ้มกับค่าแรง แน่นอนถ้าเราเรียนรู้มากเราต้องคาดหวังว่าเราจะได้มากกว่านี้อยู่แล้ว การทำงานในหน่วยงานเอกชนในเยอรมันค่าแรงหลากหลายเหนื่อยกับการต่อรองทุกปี แต่ไม่ได้แปลว่าได้มากกว่าหน่วยงานรัฐในทุกๆที่นะ บางที่ได้น้อยกว่า บางที่ได้เยอะก็มี ค่าแรงของหน่วยงานรัฐของเยอรมันจะค่าแรงอยู่เรทกลางๆ มีการปรับตามค่าครองชีพขั้นต่ำทุกปี ไหนจะเงินพิเศษประจำปีที่ชัดเจน และพิเศษเฉพาะกรณีอีก(รวมๆคือ คูณ 13 ต่อปี) และมีเงินพิเศษชำนาญการ และการอัพตำแหน่งก็อยู่ที่ระยะเวลาการทำงานและใบสอบต่างๆชัดเจน อันนี้คุณแม่ก็เขียนแชร์ไว้ ใครสนใจว่าเราประสบการณณ์เท่านี้ควรได้เท่าไหร่ก็ไปอ่านอีกบทความดูแล้วก็คำนวณดูว่าถ้าเราอยากจะมาทำงานที่เยอรมัน มีประสบการณ์เท่านั้นเท่านี้ ควรจะเรียกที่เท่าไหร่ ไปอ่านที่นี่ (โปรแกรมเมอร์เงินเดือนอยู่ที่ราวๆ E11 นะคะ เงินเดือนต่อปี 13 เดือน พักร้อน 30 วัน ไม่รวมเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤ์) เรื่องรายได้ของงานนักพัฒนาที่นี่มันมีสถิติที่หาได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย 

https://khunmaegamer.blogspot.com/2023/08/blog-post.html

ก็นั่นแหละนี่ก็อีกหนึ่งเหตุผลทำงานเทียบกับเวลาที่เราต้องสูญเสียไม่คุ้มกับค่าแรงที่ได้รับ ตอนลาออกบริษัทก็เสนอให้มากขึ้น แล้วมาบอกว่าไปที่อื่นไม่งานสบายเหมือนที่นี่นะ โฮะๆๆๆ ทำงานบางวันนั่งคิดถึงเที่ยงคืนเบาๆ สบายมากเลยมั้งนั่น แถมบอกอีกว่าหน่วยงานรัฐเขาให้ไม่เยอะนะ แต่มันปั่นจักรยาน 15 นาที!!! 😰 

ในส่วนของคุณแม่เองที่ได้งานจากหน่วยงานรัฐก็ได้ถูกนับประสบการณ์ให้ด้วยค่ะ ไม่ต้องไปเริ่มต้นที่เลข 1 ใหม่
 และทำงานกับหน่วยงานรัฐในเยอรมันเงินเดือนมันตรงๆตามตารางนั่นแหละ ไม่มีแฟนตาซี และย้ำอีกทีว่า ยังไม่เคยมี "ปริญญาใดๆจากเยอรมันทั้งสิ้น" แต่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากกรมจัดหางานในเยอรมันในการเรียนเรียนสายพัฒนาซอล์ฟแวร์นะคะ เป็นเงินราวๆ 27,000 ยูโร (ไม่ได้จ่ายเอง ของฟรี พี่ชอบ) จากนั้นเรียนรู้มาจากอาจารย์ยูทูป อาจารย์กูเกิ้ล อาจารย์ยูเดมี่ อาจารย์ Stackoverflow 😆 แต่การนับประสบการณ์เพื่อเพิ่มเงินเดือนของงานรัฐจะต้องใช้ Arbeitszeugnis (ใบรับรองงาน) ที่มีจำนวนปีขั้นต่ำตามที่กำหนดเท่านั้น ถ้าไม่มีต้องไปเริ่มที่ 1 ใหม่ 

ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งนะ อย่าไปคิดว่าบริษัทมีบุญคุณอะไรขนาดนั้น มันคือการเอาความรู้ที่เรามีไปแลกเงิน เราต้องตัดสินใจกับอนาคตของเราเองด้วย เพราะรายได้จะส่งผลกับเงินบำเน็จบำนานของเราค่ะ มันไม่มีหรอกบุญคุณอะไร มันคือการแลกเปลี่ยน เราไปเดี๋ยวเขาก็หาคนใหม่มาแทน คุณแม่เป็นคนที่ 6 ที่ลาออกในปีนี้ งานยากๆมันทำให้เราเก่งไวถ้าเราทุ่มเทขยันเรียนรู้ หลายๆคนย้ายสำนักไปอยู่กับองค์กรณ์ใหญ่หมดเลย เช่น Volkswagen, Enercity, Sennheiser (แต่บริษัทที่เคยทำงานก็มีคนมาจากบริษัทระดับ Top (VW, Telekom AG) เหมือนกันนะ คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า) ส่วนคุณแม่เองไปอยู่องค์กรณ์รัฐที่จะไม่มีวันถูกเลย์เอาท์แน่นอน (สูฉันแก่แล้ว และนี่คืออีกสิ่งที่ต้องคิด ปัญหาของคนมาเรียนและเริ่มทำงานตอนแก่ ขอที่ทำงานมั่นคงๆ รายได้พอกิน มีเวลาให้ครอบครัว ได้ทำงานอดิเรคที่ชอบทำก็สุขใจแล้ว แล้วเหตุผลอีกอย่างคือเรื่องความเท่าเทียม เราได้เงินเดือนสวัสดิการเทียบเท่าคนเยอรมัน และเงินเดือนก็นับตามประสบการณ์ ซึ่งถือว่าถึงจะไม่ได้ใช่เงินเดือนที่สูงแต่ถือว่า Fair

งานสายนี้เรียนมากได้มาก เรียนน้อยได้น้อย อยากจะขายตัวเองได้ในอนาคตเราต้องแลกมากับเวลาที่ต้องใช้ไปกับการเรียนรู้ คนประสบการณ์ 3 ปี ก็แซงคนทำงานมาเป็น 5 ปี 10 ปี ได้ ถ้าขยันพัฒนาตัวเอง ตอนแรกก็ตั่งเป้ากันแหละว่าเราจะเป็น the best team ในบริษัทนี้แล้วเราจะขอขึ้นเงินเดือนไปด้วยกัน สรุปตี้แตก แยกย้าย ฮ่าๆๆๆๆ โปรเจคสุดท้ายที่รับผิดชอบได้รับคำชมจากพี่ๆ Senior ว่าทำได้ดีมากและของคุณมากที่ทำ Documents ทุกอย่างให้เสร็จพร้อมกับถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับคนมารับงานต่อไม่ทิ้งไปเฉยๆ เราเองก็ไม่อยากจากไปแล้วให้เขาด่าตามหลังก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

สรุปหัวข้อนี้ จะมีการไม่มั่นใจในฝีมือและความรู้ของกันและกัน และเราต้องพิสูจน์ตัวเองหนักมากเพื่อจะยืนหนึ่งเทียบเท่าคนอื่น

ปัญหา Racist สัญชาติ และเพศ

สำหรับผู้หญิงยิ่งมาจากโลกที่ไม่ใช่ไอทีเลยนี่ เราจะโดนมองว่าอ่อนค่ะ แล้วยิ่งมาจากประเทศไทย ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องขายบริการทางเพศ และ Happy Massage แล้ว อันนี้มันไม่ใช่ความผิดเราแต่ก็ต้องยอมรับความจริงนั่นแหละ ว่าประเทศเรานี่มันก็ดังเรื่องแบบนั้นจริงๆ เขาอาจจะมีคำพูด พูดเล่นๆที่กัดจิกเรา ยิ่งผู้ชายอาหรับหรือชาตืที่ผู้ชายิป็นผู้นำนี่ เห็นเราเงียบๆนิ่งๆ พูดเล่นอยู่นั่นแหละ ว่าจะไปเที่ยว ไปนวด อย่างว่าที่ไทย พอบ่อยขึ้นเราก็รำคาญนะ มันอึดอัด แม้แต่คนเพื่อนร่วมงานคนเยอรมันเองก็ติเหมือนกันว่าพูดทำไมแบบนี้ประเทศไทยมีอะไรสวยๆตั่งเยอะ เรื่องวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องที่คอนโทลยาก ยิ่งองค์กรที่ผู้คนหลากหลายยิ่งอะไรประหลาดๆเยอะ ต้องค่อยๆปรับตัวค่ะ เราคิดว่าผู้ชายอาหรับค่อนข้างจะยอมรับความความคิดเห็นจากผู้หญิงยาก (อาจจะไม่ใช่ทุกคนนะ) เกิดมาไม่เก่งขนาดจะเข้าองค์กรณ์ที่ Luxury ได้ก็อาจจะมีโอกาสเจอคนตลาดล่าง แบบนี้แหละ ฮ่าๆๆ ทนเอาค่ะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป 😁

ปัญหาเรื่อง ภาษา

แน่นอนว่าทำงานที่เยอรมัน ต่อให้จะมีองค์กรณ์ที่รับคนที่พูดได้เฉพาะภาษาอังกฤษได้เข้าทำงาน แต่ถ้าเราไม่ได้เก่งเวอร์เบอร์ตอง ประสบการณ์สูงถึงปานนั้น โอกาสก็ได้มายากนอกจากลดค่าตัว (เหมือนพี่คนรัสเซียที่ลาออกไปก่อนหน้า) การได้ภาษาจะทำให้เราหางานได้ง่ายขึ้น และสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ บริษัทที่เป็นเยอรมันเพรียวๆ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ ใช้ภาษาเยอรมัน 100% ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสัญญา ใบร่างการทำงาน (Product requirement, Scope statement หรือแม้แต่เอกสาร Document กำกับผลิตภัณฑ์ที่เราจำเป็นต้องเขียนเป็นภาษาเยอรมัน ส่วนใหญ่คนทางฝั่งเอเชียไม่ได้เรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่สองเหมือน ตุรกี ตุนีเซีย รัสเซีย หรือแถบๆใกล้ๆนี้ที่เขาเรียนมากันตั่งแต่มัธยมแล้ว คุณแม่เคยถามเพื่อนร่วมงานคนตุรกีว่าทำไมพูดเก่งจังมาอยู่ไม่กี่ปี เขาบอกว่า จริงๆแล้วเขาเรียนมาตั่งแต่สมัยเรียนแล้วพอมาอยู่เยอรมันได้ใช้งานมากขึ้นก็เลยทำให้เขาพูดได้ไว ถ้าพูดภาษาเยอรมันแค่พอสื่อสารได้จะทำให้เราหางานได้ง่ายขึ้นมาก และง่ายต่อการดำเนินชีวิตในเยอรมันด้วย สำหรับตัวดิฉันเองที่เป็นคนไม่มีพรสวรรค์ใดๆในด้านการเรียนภาษามองว่า ภาษาเยอรมันนั้น "ยากชิปหายเลยค่ะ"


💓💓💓💓💓💓💓💓

อ่านจบก็อย่าพึ่งกลัวกันไปเลย สิ่งที่ดีๆที่สนุกๆเป็นประจำก็มีกับการทำงาน ปาร์ตี้สนุกๆ เบียร์ฟรี เหล้าฟรี กิจกรรมสันทนาการ ส่งเสริมสุขภาพด้วยการมีกายภาพบำบัดมาดูแลพนักงานทุกคน พาหมามาทำงานด้วยได้ ให้คนพิการและคนอายุมากได้มีโอกาสมาฝึกงาน หรือเด็กๆนักเรียน นักศึกษาจากต่างประเทศ แต่ฝึกงานฟรีไม่มีค่าอัดฉีดนะ อันนี้ส่วนตัวพูดจริงๆ เราว่าเขาก็สนับสนุนเพื่อการศึกษาอยู่ แต่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในการทำโฆษณาสู่สังคมก็เป็นได้ แต่ก็ถือว่ามันก็เป็นข้อดีที่ช่วยพัฒนาสังคมส่วนรวม เพื่อนร่วมงานน่ารักๆที่เห็นใจชาวต่างด้าวอย่างเราแล้วช่วยแนะนำพัฒนาสกิลเรา การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีจะ Based On ความเป็นจริงและเป็นไปได้ แต่สุดท้ายก็คือเราต้องเลือกเส้นทางเพื่อตัวเอง และจริตของตัวเอง มันไม่มีที่ไหน perfect หรอก ก็ได้อย่างเสียอย่างอยู่ที่ว่าอะไรสำคัญกับการดำเนินชีวิตของเรา ถ้าเราอยากรวยการทำงานองค์กรณ์เล็กๆก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าจะเข้าองค์การณ์ใหญ่ๆเราก็ต้องมีสกิลอะไรดีๆไปแลก 

เก็บไว้แต่ความประทับใจและสิ่งที่ดี ส่วนความผิดพลาดนั้นให้เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ทุกวันนี้ก็ยังขอบคุณทุกๆคนที่อย่างน้อยก็เคยให้โอกาสและคอยให้คำปรึกษาที่ดี ไว้คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องดีๆสนุกๆ หรือสวัสดิการต่างๆที่ได้รับ ให้อ่านกันบ้าง สำหรับบทความนี้ ปิดท้ายด้วยน้องมีอาคนสวย สุนัขนำทางผู้พิการทางสายตาที่มาฝึกงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่บริษัทค่ะ 💗






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์สมัครงาน Software Developer ในเยอรมัน

เงินเดือนที่ได้จากการทำงานกับหน่วยงานรัฐในเยอรมัน